การสำรวจและศึกษากล้วยไม้ในประเทศไทย | | พิมพ์ | |
การสำรวจและศึกษากล้วยไม้ในประเทศไทย
ประเทศไทยมีการศึกษาและเก็บตัวอย่างพรรณพืชมาเป็นเวลาช้านานกว่า 200 ปี แต่ทั้งหมดเป็นการศึกษาของชาวต่างชาติ เช่น ชาวเดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส ที่เดินทางมาพร้อมกับคณะทูตเพื่อเจริญสัมพันธ์ไมตรีและค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งนักพฤกษศาสตร์เหล่านั้นได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพรรณพืชที่พบในประเทศและนำตัวอย่างกลับไปศึกษาอีกครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ จากบันทึกที่ผ่านมา การศึกษาและการเก็บตัวอย่างกล้วยไม้ในประเทศไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์กชื่อ Johann Gerhard Konig (ชื่อย่อ J.Konig) ได้เดินทางมาสำรวจประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างปี พ.ศ. 2321-2322) โดยเริ่มตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย จนถึงประเทศไทย บนเกาะภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา และจันทบุรี การสำรวจครั้งนั้นพบกล้วยไม้ 24 ชนิด และมีชนิดที่ได้รับการตั้งชื่อ ได้แก่ สิกุนคล ที่ถูกบันทึกไว้ในชื่อ Epidendrum ophrydis J.Konig หรือ Dienia ophrydis (J.Konig) Ormerod & Seidenf. และเอื้องใบมะขาม : Epidendrum hexandrum J.Konig หรือ Appendicula hexandra (Jkonig) J.J.Sm. จึงกล่าวได้ว่าเป็นการตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ครั้งแรกให้กับกล้วยไม้ที่สำรวจในประเทศไทย และหลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้วหกปี ราวปี พ.ศ. 2334 จึงมีการนำบันทึกการสำรวจกล้วยไม้ของท่านมาตีพิมพ์เผยแพร่โดยใช้ชื่อหนังสือว่า “Descriptiones Epidendrorum” ราวปี พ.ศ. 2364 หรือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้มีคณะทูตจากประเทศอังกฤษเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ซึ่งมีศัลยแพทย์และนักธรรมชาติวิทยาชื่อ George Finlayson (ชื่อย่อ Finl.) ร่วมเดินทางมาด้วย และเก็บตัวอย่างพรรณพืชทั้งในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง จากหลักฐานที่ปรากฎพบว่ามีกล้วยไม้หลายชนิดที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านผู้นี้ ได้แก่ กะเรกะร่อนปากเปิด (Cymbidium finlaysonianum) ที่สำรวจพบในประเทศเวียดนาม และกล้วยไม้ดินหรือตานขโมย (Bromheadia finlaysoniana) ที่สำรวจพบในประเทศสิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2403-2412 หรือรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) อนุศาสนาจารย์และนักพฤกษศาสตร์ประจำกองทัพเรืออังกฤษ ชื่อCharles Samuel Pollock Parish (ชื่อย่อ C.S.P.Parish) เดินทางมาเก็บตัวอย่างพรรณพืชในประเทศพม่าและบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ในจังหวัดกาญจนบุรี และพบกล้วยไม้ชนิดใหม่เป็นจำนวนมากโดยมีหลักฐานปรากฏจากชื่อพฤกษศาสตร์ของกล้วยไม้ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ท่าน เช่น รองเท้านารีเมืองกาญจน์ (Paphiopedilium parishii) และผีเสื้อน้อย (Phalaenopsis parishii) จากตัวอย่างที่พบในประเทศพม่า ปี พ.ศ. 25445-2475 มีการสำรวจกล้วยไม้อย่างจริงจังขึ้นอีกครั้งโดย Arthur Francis George Kerr ๖ชื่อย่อ Kerr) นายแพทย์ชาวไอริช ที่สำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณพืชในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะทางภาคเหนือไว้มากกว่า 32,546 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้มีชิ้นตัวอย่างที่เป็นต้นแบบการตั้งเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกหลายชิ้น เช่น กล้วยไม้น้ำ (Epipactis flava) ที่สำรวจพบบริเวณตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และกล้วยไม้ส้มสยาม (Didymoplexiella siamensis) ที่พบบนดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารับราชการเป็นนักพฤกษศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมท่านแรกของกองตรวจพันธุ์รุกขชาติ และเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ หรือพิพธภัณฑ์พืชสิรินธร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์พืชแห่งแรกของประเทศไทยที่เก็บรวบรวมพรรณไม้ตัวอย่างหนึ่งในสามชิ้นของพืชแต่ละชนิดที่ท่านเก็บตัวอย่างไว้ สำหรับยุคเฟื่องฟูที่สุดของการศึกษากล้วยไม้ในประเทศไทยอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2474-2478 หรือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อศาสตราจารย์ Gunnar Seidenfaden (ชื่อย่อ Seidenf.) เอกอัครทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ได้เริ่มเก็บตัวอย่างกล้วยไม้อย่างจริงจังในหลายภูมิภาค ต่อมาท่านได้ร่วมงานกับ ศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันท์ (Tem Smitinand ชื่อย่อ Smitinand) นักพฤกษศาสตร์ชาวไทย เพื่อสำรวจกล้วยไม้ทั่วประเทศและรวบรวมผลการศึกษาทั้งหมดจัดพิมพ์เป็นหนังสือวิชาการเล่มแรกเกี่ยวกับกล้วยไม้ในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “The Orchids of Thailand: A Preliminary List” เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยสยามสมาคม ระหว่างปี พ.ศ. 2497-2516 ศาสตราจารย์ G. Seidentadenได้รวบรวมตัวอย่างกล้วยไม้ที่เก็บได้ทั้งหมดกว่า 9,000 ชิ้น และเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชแห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ทั้งยังศึกษากล้วยไม้ไทยอย่างต่อเนื่อง และได้เขียนหนังสือวิชาการที่สำคัญอีก 14 เล่ม คือ “Orchid Genera in Thailand I-XIV” ที่ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2512-2531 ซึ่งนักพฤกษศาสตร์รุ่นหลังใช้อ้างอิงได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังรายงานการค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยไว้อีกจำนวนมากตามวารสารทางพฤกษศาสตร์ โดยกล้วยไม้ชนิดสุดท้ายที่รายงานไว้คือ เอื้องอัญมณี (Corybas ecarinatus K.Anker & Seidenf.) ในปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันการสำรวจกล้วยไม้ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจำนวนกล้วยไม้ที่ไม่เคยสำรวจมาก่อนจะลดลงกว่าในอดีตที่ผ่านมาก็ตาม แต่การสำรวจก็ส่งผลให้พบกล้วยไม้เพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก โดยหน่วยงานที่มีความสำคัญในการตรวจสอบชนิดพันธุ์กล้วยไม้ป่า ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อบฉันท์ ไทยทอง ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช โดย ดร.สมราน สุดดี และสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ โดย ดร.วีระชัย ณ นคร ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอีกหลายแห่งที่มีบทบาทสำคัญในการสำรวจและศึกษาพืชวงศ์กล้วยไม้ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งต่างดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด |